สาระพลังงาน

ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับน้ำหนักของน้ำมันเตา


ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับน้ำหนักของน้ำมันเตา

หลายวันมานี้มีปัญหาที่ทำให้ผู้เขียนปวดหัว ปวดตับกินไม่ได้ นอนไม่หลับ อยู่เรื่องหนึ่งซึ่งก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าอะไรที่ทำให้เข้าใจผิด ๆ กันได้ขนาดนี้ ซักไปซักมาก็อ้างว่า "เขาว่ามาแบบนั้นแบบนี้" พอถามว่า เขานี่คือใคร? ก็พากันตอบไม่ได้สักคน สงสัยต้องแจ้งจับบุคคลที่ชื่อ "เขา" สักที โทษฐานที่ทำให้ผู้คนเข้าใจผิดตั้งแต่ภารโรงยันวิศวกรนอนเปลกันเลยทีเดียว

 

น้ำมันเตาทำไมน้ำหนักน้อยจัง? ผสมมารึเปล่า? น้ำมันเตามันต้องหนักเท่านั้นเท่านี้ไม่ใช่หรือ? ฯลฯ

 

ข้างต้นคือสารพัดข้อสงสัยที่ผู้ปฏิบัติงานในโรงงานมักจะตั้งคำถาม และผู้เขียนก็ต้องอธิบายอยู่บ่อยครั้ง แม้กระทั่งการอธิบายและให้ข้อมูลกับวิศวกรด้วยกันก็ยังต้องใช้เวลาอยู่พักใหญ่ ส่วนการอธิบายให้ผู้ที่ไม่มีความรู้ด้านวิศวกรรมเลยก็ต้องทำงานหนักขึ้นอีกเท่าตัว

 

ปัญหาที่กล่าวมานั้น ผู้เขียนเชื่อว่าน่าจะเกิดจากการพูดหรือบอกต่อกันมาและพอบอกต่อกันมาแบบผิด ๆ ก็กลายเป็นผิดต่อเนื่องกันมาเรื่อย ๆ สุดท้ายก็ถูกบันทึกในสมองว่า สิ่งที่รู้มานั้นเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว ซึ่งผู้เขียนได้สัมผัสกับปัญหาเหล่านี้มาค่อนข้างมาก จึงอยากจะนำมาเล่าให้ฟัง และอยากให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับน้ำมันเตาสำหรับผู้ประกอบการและผู้ที่ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรม

 

จริง ๆ แล้วน้ำมันเตาที่ดีควรจะมีน้ำหนักเบาและใส เพราะนั่นแสดงให้เห็นว่าน้ำมันเตามีความสะอาดและบริสุทธิ์ ไม่มีสารแขวนลอยอื่น ๆ เจือปนอยู่ ส่วนน้ำหนักของน้ำมันเตาควรจะอยู่ที่ประมาณ 920 กรัมต่อลิตร ในระดับอุณหภูมิของประเทศไทย ซึ่งแค่นี้ก็ถือว่าสูงมากเกินไปแล้ว ทั้งนี้ โดยพื้นฐานของน้ำมันเตาส่วนใหญ่มักจะมีน้ำหนักน้อยเวลาอากาศร้อนเพราะเกิดการขยายตัว ปริมาณเท่าเดิมแต่น้ำหนักน้อยลง ถ้าอากาศเย็นก็จะหดตัวลง

 

อีกเรื่องที่เถียงกันเป็นประจำคือ น้ำมันเตาปริมาณเท่านี้ เมื่อชั่งรถบรรทุกน้ำมันที่เข้า-ออกโรงงานควรจะมีน้ำหนักเท่าไหร่?

 

ก่อนจะตอบคำถามนี้ต้องบอกให้ผู้ถามเปิดใจและยอมรับความจริงก่อนว่า ที่นี่ประเทศไทย อุณหภูมิทั่วไปสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส ซึ่งค่า ถ.พ. ที่เห็นกันอยู่ในตั๋วน้ำมันนั้นใช้อุณหภูมิที่ 15 องศาเซลเซียส เป็นตัวเทียบ ก็จะได้น้ำหนักประมาณ 935 กรัมต่อลิตร (ค่าที่ได้มักจะไม่เท่ากันเสมอไปขึ้นอยู่กับคุณภาพการกลั่นและแหล่งที่มาของน้ำมันดิบ)

 

ขณะที่บ้านเราบางวันอุณหภูมิสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส แต่ก็ยังอยากจะได้น้ำหนัก 935 กรัมต่อลิตรกับเขาบ้าง ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นไปไม่ได้ เพราะในความเป็นจริงน้ำหนักต้องเบากว่า 935 กรัมต่อลิตรอยู่แล้ว ใช่หรือไม่?

 

แล้วในระดับอุณหภูมิของประเทศไทยน้ำมันเตาควรจะมีน้ำหนักเท่าไหร่?

 

จากประสบการณ์ของผู้เขียน น้ำหนักของน้ำมันเตาในระดับอุณหภูมิของเมืองไทยมักวิ่งอยู่ที่ประมาณ 920-925 กรัมต่อลิตร แต่ผู้ใช้หลายรายมักตะขิดตะขวงใจที่จะรับน้ำหนักเบาแบบนี้ และมักจะท้วงติงว่า ปริมาตรขาด ได้ไม่เต็มลิตร อยากได้น้ำมันที่มีค่า ถ.พ.สูง ซึ่งก็มีผู้ค้าน้ำมันเตาบางรายที่ใช้เทคนิคพิเศษโดยการเอาโคลนหรือตะกอนผสมไปด้วย เพื่อให้ได้น้ำหนักตามที่ลูกค้าต้องการ (จัดให้ตามความต้องการของลูกค้า) อันนี้ก็ต้องระวังให้มาก

 

อย่างไรก็ตาม น้ำมันเตาที่ขายกันในประเทศไทย (น้ำมันเตาคลังที่มีมาตรฐานการผลิตที่ถูกต้อง) มันไม่สามารถมีน้ำหนักตามที่ผู้ใช้ต้องการได้อยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อทราบข้อมูลแบบนี้แล้ว ก็ควรปรับความเข้าใจเกี่ยวกับน้ำมันเตาเสียใหม่ และไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเรียกร้องอะไรที่ผิดธรรมชาติ เดี๋ยวจะกลายเป็นเสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่ายไปในที่สุด