สาระพลังงาน

การเพิ่มกำลังการผลิต แค่เพิ่มปริมาณเครื่องจักรไม่ใช่ทางออกสุดท้าย


การเพิ่มกำลังการผลิต แค่เพิ่มปริมาณเครื่องจักรไม่ใช่ทางออกสุดท้าย

หากจะกล่าวถึงปัญหาของคุณภาพการผลิต หลาย ๆ คนมักจะมองถึงเทคโนโลยีการผลิตต่ำเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คุณภาพของสินค้าที่ได้มักมีคุณภาพไม่คงที่ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป บางครั้งเทคโนโลยีที่เรามีอยู่อาจจะเหมาสมอยู่แล้ว หากแต่ขาดความสมบูรณ์ของการส่งจ่ายหรือนำส่งหน่วยพลังงานได้อย่างเพียงพอ ทำให้เครื่องจักรที่มีอยู่ไม่สามารถแสดงศักยภาพที่แท้จริงออกมาได้

 

ถ้าการขยายการผลิตด้วยการเพิ่มเครื่องปริมาณจักรเพียงอย่างเดียว สิ่งที่จะได้กลับมาก็คือ "สินค้า" แต่ไม่ได้คุณภาพของสินค้า การคำนึงแหล่งพลังงานที่จะส่งให้เครื่องจักรจะต้องถูกแก้ไขและทำควบคู่กันไปด้วย บางครั้งเพียงแค่เราปรับปรุงแหล่งกำเนิดพลังงานหรืออุปกรณ์การนำส่งพลังงานให้ดีขึ้น เราก็สามารถเพิ่มกำลังและประสิทธิภาพของเครื่องจักรด้วยเงินลงทุนเพียงน้อยนิด

 

ตัวอย่างเช่น เถ้าแก่และคนงานเก่าแก่มักมองว่าการเพิ่มกำลังการผลิต คือ การเพิ่มเครื่องจักรเวลามีเครื่องจักรมาใหม่ก็ติดตั้ง ต่อน้ำ ต่อไฟ เข้าเครื่อง เป็นอันเสร็จ โดยลืมนึกไปว่าท่อน้ำหรือสายไฟที่ต่อเข้าเครื่องจักรไว้นั้นถูกต่อมาเป็นสิบเครื่องแล้ว น้ำที่ท่อส่งได้ก็สุดกำลัง สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือการที่มีเครื่องจักรเพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่า จะต้องเฉลี่ยน้ำให้กับเครื่องจักรทุกเครื่องเท่า ๆ กัน

 

สมมติว่า ระบบมีความสามารถในการส่งน้ำได้ 1,000 ลิตรต่อชั่วโมง มีเครื่องที่ติดตั้งอยู่เดิม 10 เครื่อง (1000/10) นั่นคือได้น้ำ 100 ลิตรต่อเครื่อง ถ้าหากว่ามีเครื่องเพิ่มขึ้นมาอีก 2 เครื่อง รวมเป็น 12 เครื่อง (1000/12) การส่งน้ำในอุดมคติจะเป็น 84 ลิตรต่อเครื่อง ซึ่งลดลง แล้วถ้าเกิดความต้องการน้ำของเครื่องอยู่ที่ 90 ลิตรต่อชั่วโมง จะเกิดอะไรขึ้น?

 

หลายคนอ่านเพียง namepage ของเครื่อง แต่ไม่เคยคำนวณกำลังส่งท่อน้ำของตัวเอง อาจจะเป็นเพราะไม่รู้ เห็นน้ำในท่อไหลแรง มาเต็มท่อตลอด ก็เลยคิดเอาเองว่าเพียงพอ ซึ่งเห็นหลาย ๆ โรงงานมักจะเจอปัญหาแบบนี้ และมันไม่ใช่แค่เฉพาะน้ำ แต่รวมถึงไอน้ำด้วย

 

หลายคนไม่ทราบว่า ท่อไอน้ำขนาด 6 นิ้ว ด้วยค่าการออกแบบที่แย่ที่สุด สามารถส่งไอน้ำได้ไม่เกิน 10,000 กิโลกรัมไอน้ำ แต่เวลามีเครื่องจักรใหม่ ๆ เข้ามาก็มักจะต่อจากท่อนี้ประจำ พอเวลาขึ้นความร้อนไม่ได้ก็มักจะเข้าใจผิดว่าเป็นที่เครื่องจักรทำไม่ได้ แต่จริง ๆ แล้วพลังงานที่เราส่งให้เครื่องจักรต่างหากที่ไม่พอ เพราะไอน้ำเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น เราเลยโทษแต่ในสิ่งที่เรามองเห็นเท่านั้น

 

ระบบการผลิตไม่ใช่แค่เครื่องจักร แต่มันต้องมองไปถึงซัพพลายด้านพลังงานด้วย มันถึงจะทำให้สามารถดึงศักยภาพสูงสุดของเครื่องจักรออกมาได้